“อุลกมณี” อัญมณีรูปร่างทรงกลม ลักษณะคล้ายเนื้อแก้ว เนื้อมีสีดำคล้ายนิล เป็นอัญมณีที่พบได้ในดินแดนอีสาน อุลกมณีคือหนึ่งในหลักฐานของการถูกพุ่งชนโดย “อุกกาบาต” และน่าประหลาดหากเราจะกล่าวว่า ดินแดนอีสานกับภาพจำดินแดนไกลปืนเที่ยงของใครหลายคน เป็นหนึ่งในสถานที่ที่บันทึกประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของโลกไว้ กับการพุ่งชนของอุกกาบาตที่สาบสูญในประเทศลาว
“อุลกมณี” คืออัญมณีชนิดหนึ่ง ลักษณะของมันคือหินที่มีเนื้อลักษณะคล้ายแก้ว เนื้อสีดำคล้ายนิล บ้างก็พบเนื้อสีน้ำตาลหรือสีเขียว ผิวมีลักษณะตะปุ่มตะป่ำ เป็นรอยวงกลมกระจายตัวทั่วทั้งก้อน ซึ่งรูปลักษณ์สัณฐานของอุลกมณีนั้นไม่แน่นอน ส่วนมากจะพบอุลกมณีในรูปร่างกลมและหยดน้ำ มีบ้างที่พบลักษณะคล้ายกับแท่งกระดูก โดยคนบางกลุ่มมีความเชื่อว่าหินอุลกมณีเป็นหินสะเก็ดดาว เชื่อว่ามีพลัง เสมือนมีเทพคุ้มครอง และมีพุทธคุณ
อุลกมณีเป็นหินมณีที่พบมากในพื้นที่แถบภาคอีสานของประเทศไทย และทางภาคใต้ของประเทศลาว
การเกิดของหินอุลกมณีนี้นั้น เกิดจากการพุ่งชนของอุกกาบาตกับพื้นโลก พื้นโลกที่ถูกชนนั้นร้อนมากและบางส่วนจะกระเด็นขึ้นไปบนท้องฟ้า หินร้อนหลอมเหลวที่กระเด็นขึ้นไปบนท้องฟ้าถูกความเย็นจากชั้นบรรยากาศและอวกาศทำให้มันเย็นลง และตกกลับมายังพื้นโลก กลายเป็นหินอุลกมณี ทำให้เราพบหินอุลกมณีในบริเวณกว้างในพื้นที่ของหลุมอุกกาบาต กินระยะตั้งแต่ไม่กี่กิโลเมตรจากปากหลุมไปจนถึงข้ามทวีป ซึ่งขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการชนของอุกกาบาตลูกนั้น
การพบอุลกมณีในพื้นที่ของภาคอีสานของประเทศไทยนั้น หมายความถึงอดีตพื้นที่ในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรานั้นเคยถูกพุ่งชนด้วยอุกกาบาตขนาดใหญ่ที่มีความรุนแรงมากพอที่จะส่งอุลกมณีกระจายตัวไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ที่กินพื้นที่ราว 1 ใน 3 ของโลก ซึ่งแสดงว่าการพุ่งชนในครั้งนั้นต้องมีความรุนแรงเป็นอย่างมาก แต่ทำไมเรากลับไม่พบหลุมอุกกาบาตที่มองเห็นได้บนพื้นที่ของประเทศเราหรือประเทศเพื่อนบ้านของเราเลย
การพบอุลกมณีในพื้นที่ที่กินบริเวณกว้างลักษณะนี้ ซึ่งรวมไปถึงการวิเคราะห์เนื้อหินของอุลกมณีแล้วพบว่าอุลกมณีทั้งหมดที่พบในแถบบ้านเรานั้นมีแหล่งกำเนิดของอุลกมณีมีจากแหล่งกำเนิดมาจากแหล่งเดียวกัน แสดงว่าเป็นหลักฐานชั้นดีว่า พื้นที่ในแถบภาคอีสานจนไปถึงเวียดนามนั้นต้องมีการพุ่งชนของอุกกาบาตอย่างแน่นอน
มีการศึกษาเกี่ยวกับการค้นหาร่องรอยของอุกกาบาตปริศนาลูกนี้ที่ทิ้งร่องรอยเอาไว้ในภูมิภาคของเราอยู่ตั้งแต่ช่วงปี 1993 แต่กลับไม่มีใครพบหลักฐานที่แน่นอนของหลุมอุกกาบาตนี้เลยแม้แต่หลักฐานเดียว ได้แต่คาดเดาพื้นที่ที่เป็นจุดตกของอุกกาบาต คือพื้นที่ที่ราบสูงโบลาเวนของประเทศลาวได้เพียงแค่นี้
จนในที่สุดปี 2019 นักวิจัยที่มีสมาชิกจากสิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ไทย และสปป.ลาว ได้สรุปเรื่องราวของหลุมอุกกาบาตนี้ว่า เป็นอุกกาบาตที่พุ่งชนโลกเมื่อ 799,000 ปีก่อน พวกเขาคาดการณ์ว่าอุกกาบาตลูกนี้น่าจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 กิโลเมตร มันได้เข้าพุ่งชนโลกและน่าจะทิ้งร่องรอยเป็นหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่ฝังอยู่ใต้ลานลาวาที่กลายสภาพเป็นหินบะซอลต์ ที่เรียกว่า ลานหินบะซอลต์โบลาเวน ที่น่าจะเป็นทุ่งลาวาที่เกิดจากการชนของอุกกาบาตลูกนี้ โดยลาวาเหล่านี้กินพื้นที่ไปในหลายประเทศทั้งสปป.ลาว กัมพูชาและเวียดนาม
การชนในครั้งนี้คือการชนของอุกกาบาตที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของโลก เรียกได้ว่าเป็นรองการชนของอุกกาบาตลูกที่ชนโลกเมื่อ 65 ล้านปีก่อนจนทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไป ความรุนแรงนั้นมากพอที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ให้กับชั้นบรรยากาศของโลก ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยจากยุคน้ำแข็งเข้าสู่ช่วงคั่นของยุคน้ำแข็งที่โลกร้อนขึ้นและเป็นช่วงเวลาเดียวกับการมีอยู่ของมนุษย์ปักกิ่งหรือโฮโม อิเร็กตัส ที่มีการย้ายถิ่นฐานมายังพื้นที่ของประเทศจีนในปัจจุบัน
แสดงให้เห็นว่าการชนของอุกกาบาตเมื่อเกือบแปดแสนปีก่อนนั้นสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับสภาพแวดล้อมของโลก สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับภูมิประเทศของทางตอนใต้ของประเทศลาว ทำให้เกิดธรณีสัณฐานที่มีลักษณะเฉพาะตัวในพื้นที่ของประเทศลาว ส่งผลให้โลกเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคใหม่ที่อุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และยังอาจจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยของการขยายถิ่นฐานของมนุษย์สายพันธุ์โฮโม อิเร็กตัส ในอดีตจากพื้นที่ของแอฟริกามายังพื้นที่ของเอเชียในปัจจุบันอีกด้วย
ดังนั้นอุลกมณีที่เราพบในพื้นที่ทางภาคอีสานของประเทศไทยเรา คือหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่สำคัญมากครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของโลก ได้แก่การพุ่งชนของอุกกาบาตเมื่อแปดแสนปีก่อน ที่เปลี่ยนแปลงภูมิภาคของเราให้เป็นรูปเป็นร่างดังปัจจุบันนี้ และยังเป็นส่วนในการสร้างอัญมณีที่สวยงามและเป็นที่นิยมบูชาของมนุษย์ในภูมิภาคแถบนี้อีกด้วย
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech